มูลนิธิเอสซีจีเปิดตัวหนังสือภาพในโครงการนำหนังสือดีสู่เด็กไทย ปีที่ 7

24/08/2017
share link

“มาเลี้ยงลูกด้วยหนังสือกันเถอะ”
มูลนิธิเอสซีจีเปิดตัวหนังสือภาพในโครงการนำหนังสือดีสู่เด็กไทย ปีที่ 7

“ในโลกยุคโซเชียลมีเดีย ใครหลายคนอาจกำลังหมกมุ่นอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ จนอาจหลงลืมมนต์เสน่ห์ของหนังสือไป ผมอยากเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองให้เล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เพราะการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ลูกน้อยมีจินตนาการ เกิดการคิดต่อในสมอง หนังสือภาพสำหรับเด็กมีพลังมหัศจรรย์ด้วยภาพสวยๆ บวกเสน่ห์ของพล็อตเรื่องง่ายๆ ผสานกับการเดินเรื่องที่ใสซื่อตามประสาเด็ก ทำให้พ่อแม่ซึ่งเป็นคนอ่านเพลิดเพลิน ส่งผลให้ลูกซึ่งเป็นคนฟังยิ้มไม่หุบและสร้างฉากในสมองของตัวเองสุดแล้วแต่จินตนาการจะพาไป บางทีการที่เด็กน้อยได้สัมผัสหนังสือและพลิกไปทีละหน้า เล่นบ้าง ฉีกขาดบ้าง ก็คุ้มค่ากับการที่ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ แล้วอย่างนี้ จะไม่ให้ผมว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ได้ยังไง” ชัย ราชวัตร Cartoonist นักวาดการ์ตูนชื่อดัง

มูลนิธิเอสซีจีเปิดตัวหนังสือภาพในใครงการ ‘นำหนังสือดีสู่เด็กไทย’ ปีที่ 7 โดยนำหนังสือภาพชั้นดีระดับโลก 3 เรื่องมาแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทย ได้แก่‘คุณช้างไปเดินเล่น’ ‘แอ๊ปเปิ้ลกับผีเสื้อ’ ‘ลูกกระต่ายคืนรัง’ เพื่อให้ครอบครัวชาวไทยสามารถเข้าถึงหนังสือภาพคุณภาพดีและเป็นที่นิยมของโลกได้ง่ายขึ้น รวมทั้งในปีนี้ยังจัดพิมพ์หนังสือภาพฝีมือคนไทยโดยครูชีวัน วิสาสะอีกหนึ่งเล่มเรื่อง‘ลูกแมวซื้อมันแกว’ และเรื่องที่ 5 เป็นเรื่องสำหรับเด็กผู้บกพร่องทางการมองเห็น เรื่อง‘ลูกเต่าสองตัวไม่กลัวไดโนเสาร์’ โดยมีทั้งแบบที่เหมาะกับเด็กตาบอด และเด็กสายตาเลือนรางเพื่อให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงหนังสือภาพได้เท่าเทียมกับเด็กที่มีสายตาปกติอีกด้วย

ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “โครงการ ‘นำหนังสือดีสู่เด็กไทย’ ริเริ่มขึ้นในปี 2551 โดยมูลนิธิเอสซีจี เราได้คัดสรรหนังสือภาพชั้นดีระดับโลกมาแปลโดยนักแปลผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทยและจำหน่ายในราคาย่อมเยาเพื่อให้ทุกครอบครัวสามารถเข้าถึงหนังสือภาพและนำไปใช้กับลูกหลานได้จริง มูลนิธิเอสซีจีซึ่งเป็นหน่วยงานที่มุ่งพัฒนา ‘คน’ โดยเน้นที่เด็กและเยาวชน เราตระหนักดีว่าเด็กและเยาวชนคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุด พวกเขาเหล่านี้จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับการวางรากฐานที่ดีตั้งแต่แรก เด็กในวัยแรกเกิดถึง 6 ปี เป็นช่วงวัยที่ความสามารถในด้านต่างๆ มีการพัฒนามากที่สุดทั้งความฉลาดทางสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ จริยธรรมและคุณธรรมความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงทักษะการใช้ชีวิตในสังคม นอกจากนี้หนังสือภาพยังช่วยเสริมให้เด็กๆ มีจินตนาการอีกด้วย ซึ่งจินตนาการเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กทุกคนพึงมีและพึงได้รับการสนับสนุนส่งเสริมตั้งแต่ยังเล็ก ด้วยเหตุนี้มูลนิธิเอสซีจีจึงรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เพื่อจุดประกายให้พ่อแม่ผู้ปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ”

ภายในงานเปิดตัวหนังสือภาพครั้งนี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับเด็กน้อย น้องจิรัฏฐ์ จิตติวุฒินนท์ หรือ น้องซี (อายุ 6 ปี) “หนูชอบให้คุณแม่เล่านิทานให้ฟังค่ะ คุณแม่อ่านหนังสือให้หนูฟังก่อนนอนประมาณวันละ 15–20 นาที โดยคุณแม่จะให้หนูเลือกเองว่าอยากฟังเรื่องไหน บางทีหนูก็เลือกเรื่องซ้ำอย่างเรื่อง ‘วันอังคาร’ (เรื่องและภาพโดย: เดวิด วีสเนอร์/ จัดทำและแปลโดย: มูลนิธิเอสซีจี ในโครงการ‘นำหนังสือดีสู่เด็กไทย’ ปีที่ 4) เป็นเรื่องที่หนูชอบฟังซ้ำๆ ค่ะ เพราะเวลาที่คุณแม่เล่ามันสนุกมากหนูจะอินมากเลยค่ะ ในหนังสือจะไม่มีคำบรรยายภาพเลย มีแต่ภาพ เป็นเรื่องของกบในบึงที่ลอยตัวได้แล้วพากันมาวุ่นวายในเมืองใหญ่ในคืนวันอังคาร คุณแม่เล่าแต่ละครั้งไม่เหมือนกันเลย หนูชอบมาก ตอนนี้หนูอ่านเองได้แล้ว หนูชอบอ่านมากกว่าดูทีวีเพราะภาพประกอบในหนังสือมันสวยและการอ่านหนังสือทำให้หนูอ่านคำยากๆ ได้ พอไปโรงเรียนหนูเจอคำยากแต่ว่าหนูอ่านได้เพราะเจอคำนี้มาแล้วตอนอ่านที่บ้าน หนูชอบอ่านออกเสียงค่ะ พอคุณแม่ได้ยินหนูอ่านผิด คุณแม่ก็จะแก้ให้ค่ะ คุณแม่บอกว่าชอบให้หนูอ่านออกเสียงเพราะมันเหมือนกับว่าหนูกำลังเล่านิทานให้แม่ฟังค่ะ”

ด้านคุณแม่สถาปนิกของน้องซี คุณณัฐอัญญ์ จิตติวุฒินนท์ เล่าให้ฟังถึงการใช้หนังสือภาพกับลูกน้อยว่า “เริ่มใช้หนังสือภาพกับลูกตอนลูกอายุ 1 ปีครึ่ง เพราะเรามองว่าถึงลูกจะยังอ่านไม่ได้แต่ลูกจะฟังและดูภาพได้ สาเหตุที่เลือกใช้วิธีการเล่านิทาน อ่านหนังสือเพราะว่าคนอ่านก็เพลิดเพลิน ส่วนลูกก็จะรู้สึกอบอุ่นกับน้ำเสียงของแม่ ความคุ้นเคยใกล้ชิดทำให้ลูกมีอารมณ์อ่อนโยน ถึงแม้ว่าน้องซีจะไม่เข้าใจเรื่องทั้งหมดแต่เชื่อว่าเค้ารับรู้ถึงความรักความห่วงใยจากน้ำเสียงของแม่ เรามักจะใช้เวลาช่วงก่อนนอนอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ที่ผ่านมาน้องซีจะสนใจฟังมาก น้องไม่ค่อยหลับเพราะจะติดตามฟัง บางเรื่องชอบมากก็จะหยิบมาให้แม่อ่านแล้วอ่านอีก พอลูกรู้สึกสนุกก็จะติด พอติดการเล่านิทานอ่านหนังสือก็จะอยากอ่านเองโดยเราไม่ต้องบังคับเลย ตอนนี้เราพัฒนาไปถึงขั้นชวนกันแต่งนิทานเองแล้วค่ะ โดยแม่จะเริ่มเรื่องก่อนแล้วน้องซีก็จะจินตนาการนิทานของน้องต่อไป น้องซีทั้งแต่งเรื่องทั้งวาดรูปเอง นอกจากนี้เรื่องของการนำสื่อออนไลน์มาใช้กับลูก ต้องบอกว่าเราไม่ได้ปฏิเสธการใช้ iPad หรือคอมพิวเตอร์กับลูกนะคะ สื่อพวกนี้ใช้ให้ดีก็เป็นประโยชน์ เพียงแต่การนำมาใช้กับลูกจะต้องเลือก และที่สำคัญคือการให้ลูกอยู่กับเทคโนโลยีมากไปอาจจะส่งผลต่อสายตาและสมองของลูกด้วยค่ะ อยากบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าการเล่านิทานเป็นเรื่องที่ง่ายมากค่ะ ไม่ต้องกังวลถึงน้ำเสียงในการเล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟังนะคะ ขอให้เล่าตามปกติ เพราะน้ำเสียงแห่งความรักของพ่อแม่จะผูกพันลูกและทำให้ลูกสนใจอยู่แล้วค่ะ”

ด้านคุณแม่คนสวยลูกสามอย่างคุณบัวชมพู สหวัฒน์ที่วันนี้ควงคู่มาพร้อมกับสามี คุณช้าง สมประสงค์ สหวัฒน์ได้เล่าให้เราฟังถึงการใช้หนังสือภาพกับลูกน้อยว่า “ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของสมาธิ เมื่อก่อนเจ้าตัวเล็กของบัวซึ่งตอนนี้อายุขวบครึ่งเคยมีปัญหาบ้างเรื่องสมาธิสั้น แต่พอเริ่มอ่านนิทาน เริ่มเห็นภาพต่างๆ ในหนังสือ ก็เริ่มสนใจและจดจ่อกับเรื่องที่พ่อแม่เล่าคือมีสมาธิ นอกจากนี้เราจะใช้ช่วงเวลาก่อนนอนเล่านิทานให้ลูกฟัง ลูกจะบอกว่าอยากให้คุณแม่ทำเสียงเป็นตัวละครตัวโน้นตัวนี้ ลูกชอบฟังน้ำเสียงสูงๆ ต่ำๆ นิทานมีอิทธิพลต่อจินตนาการของเด็กๆ ค่อนข้างสูง ลูกจะใช้จินตนาการปะติดปะต่อเรื่องได้ดี หลายทีลูกช่วยแม่เล่า ช่วยแต่งนิทานขึ้นมาเอง ใช้เหตุและผล แสดงความคิดเห็นเวลาที่เราเล่านิทานให้ฟัง”

ทีนี้ลองมาฟังข้อคิดของผู้คร่ำหวอดในแวดวงหนังสือภาพสำหรับเด็กอย่าง รศ. กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ (ป้ากุล) ผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมสำหรับเด็ก “เด็กชอบภาพสวย ภาษาภาพคือภาษาของเด็ก การที่พ่อแม่อ่านให้ฟัง เด็กจะได้ทักษะการฟัง ได้แวดวงคำศัพท์ การอ่านหนังสือเป็นปฏิกิริยาสองทาง พ่อแม่ได้มองตาลูกได้กอดลูก แล้วเด็กก็จะทำเสมือนว่าอ่านได้และพูดตาม ส่วนภาพประกอบในหนังสือก็ถือเป็นศิลปะชั้นสูงของเด็ก เด็กอาจจะขย้ำหรือฉีกหนังสือบ้าง แต่ไม่เป็นไรหากหนังสือขาดแต่สมองลูกเต็ม นอกจากนี้ไม่ว่าพ่อแม่จะมีฐานะร่ำรวยหรือยากจน ทุกคนสามารถสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่ลูกได้เพราะห้องสมุดประชาชนก็มีหนังสือให้ยืมได้ อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ด้วยว่าหนังสือไม่ใช่สิ่งของฟุ่มเฟือย เด็กเล็กๆ ไม่ได้ต้องการหนังสือหลายเล่ม เด็กหลายคนชอบอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก หนังสือดีๆ เพียงหนึ่งเล่มสามารถปลูกฝังนิสัยรักการอ่านของลูกน้อยได้ การเล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟังเพียงวันละ 15-20 นาทีจึงถือเป็นการให้อาหารสมองที่ประหยัด ง่าย และทรงพลัง”

มูลนิธิเอสซีจีขอชวนคุณพ่อคุณแม่มาร่วมค้นพบความมหัศจรรย์ของหนังสือภาพไปพร้อมๆ กับลูกน้อย เราหวังว่าหนังสือภาพเหล่านี้จะอยู่ในมือของคุณพ่อคุณแม่เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่ลูกตั้งแต่ยังเล็ก หนังสือภาพที่ดีจึงต้องเป็นหนังสือภาพที่เล่าเรื่องได้ ศิลปินผู้วาดภาพสื่อสารและส่งภาษาถึงเด็กด้วยภาพ ปราศจากพรมแดนหรือขอบเขตทางภาษา ไม่ต้องอ่านคำบรรยายก็เข้าใจ…เป็นสากล…เป็นพลังมหัศจรรย์…เฉกเช่นเดียวกันกับความรักของพ่อแม่

… มาเลี้ยงลูกน้อยด้วยหนังสือกันเถอะ…

ข่าวสารอื่น ๆ