มูลนิธิเอสซีจี มุ่งสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่พัฒนาศักยภาพต้นกล้าชุมชนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

17/07/2018
share link

ด้วยความเชื่อว่า ไม่มีการสร้างใด จะยั่งยืนไปกว่าการสร้าง ‘คน’ มูลนิธิเอสซีจี จึงส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด พัฒนาชุมชนในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการศึกษา สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ ต้นกล้าชุมชน มาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อมุ่งสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญในการดูแล และพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยมูลนิธิเอสซีจี ได้ให้การสนับสนุน เบี้ยยังชีพ และค่าดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ให้แก่ต้นกล้าเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีพี่เลี้ยงนักพัฒนารุ่นพี่ ผู้มากประสบการณ์ในพื้นที่เป็นผู้ชี้แนะแนวทางการทำงานชุมชนทั้งภาคสนามและภาคทฤษฎี โดยตลอดระยะเวลา 3 ปี มูลนิธิฯ ยังได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพต้นกล้าโดยนอกจากจะเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขามาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับน้องๆ ต้นกล้าแล้ว ยังจัดให้น้องๆ ต้นกล้าได้เดินทางไปศึกษาดูงานการทำงานชุมชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเสริมประสบการณ์ พร้อมสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกัน ปัจจุบันมีต้นกล้าชุมชนกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

ครั้งนี้มูลนิธิฯ ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพต้นกล้าชุมชน โดยพาน้องๆ ต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 2 และพี่เลี้ยงฯ รวม 44 คน ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานยังจังหวัดลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก Mr. Tadashi Uchida President of International OVOP Exchange Committee และทีม ลงพื้นที่ชุมชนเพื่อช่วยชี้แนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ต้นกล้าและพี่เลี้ยงฯ นำไปปรับใช้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนของตนให้แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ น่าสนใจ มีเรื่องราว นำเสนอจุดแข็ง เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้ศึกษาดูงานจากชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านใต้ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง และ ชุมชนโหล่งฮิมคาว อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ รวมถึงเยี่ยมชมตลาดประชารัฐของดีจังหวัด ณ ลานพุทธามหาชัย อ.แม่ทา จ.ลำพูน ตลาดที่เพิ่งเปิดดำเนินการด้วยแรงผลักดันจากต้นกล้าหญิง พฤติพร จินา ต้นกล้าชุมชนรุ่นที่ 2 ที่ได้แรงบันดาลใจในการทำตลาดจากการที่มูลนิธิฯพาไปดูงานที่โอย่าม่าแลนด์ที่ญี่ปุ่น แล้วน้องๆ ต้นกล้าจากทุกภาคยังได้นำผลิตภัณฑ์ชุมชนมานำเสนอเพื่อขอคำแนะนำ และล้อมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันจนเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย เสริมสร้างการทำงานภาคสังคมที่เข้มแข็งต่อไปในอนาคต

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพต้นกล้าชุมชนว่า “มูลนิธิเอสซีจีตระหนักดีว่า ต้นกล้าชุมชน จะเติบโตและแข็งแรงได้นั้น ต้องได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม การจัดให้มีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพน้องๆ ต้นกล้าในมิติต่างๆ ทั้งการเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศทั้งที่เมืองฮอกไกโด และเมืองโออิตะ เพื่อศึกษาดูงาน OVOP หรือโอทอป และการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศอย่าง Mr. Tadashi Uchida และทีม ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการขับเคลื่อนพัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนจากประเทศญี่ปุ่น ให้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อให้กับน้องๆ ต้นกล้าได้เปิดประสบการณ์ แนวคิด และมุมมองใหม่ๆ เพราะเราเชื่อว่าการได้สัมผัสประสบการณ์จริงย่อมมีคุณค่าและสร้างแรงแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ ต้นกล้าตลอดจนพี่เลี้ยงได้นำกลับไปปรับใช้ตามความเหมาะสมของชุมชนตนเอง ถือเป็นเครื่องมือในการเสริมศักยภาพความเข้มแข็งอย่างสมดุลและยั่งยืน”

ด้าน Mr. Tadashi Uchida, President of International OVOP Exchange Committee กล่าวถึงการเดินทางมาให้คำแนะนำน้องๆ ต้นกล้าชุมชนในครั้งนี้ว่า “หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ One Village One Product (OVOP) มีความใกล้เคียงกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นอย่างมาก คือ เริ่มจากการทำสิ่งเล็กๆ ง่ายๆ ที่สามารถทำด้วยตนเอง แล้วใส่พลังความคิดสร้างสรรค์และความพยายามอย่างต่อเนื่อง ทำงานอย่างกระตือรือร้น กล้าหาญ และวิริยะอุสาหะ ผมจึงเชื่อว่าน้องๆ ต้นกล้าสามารถทำได้แน่นอน ดังนั้น ภารกิจของพวกเราก็คือการให้คำแนะนำ มอบความมั่นใจและให้ความหวังแก่น้องๆ ต้นกล้า พี่เลี้ยงฯ และชุมชนที่เราไปเยี่ยมชม เพื่อให้เขาสามารถพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ โดยเน้นให้ความสำคัญกับคุณค่าของจิตใจ มากกว่าคุณค่าของเงิน และเมื่อพวกเขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้ มีความภาคภูมิใจ และมีเกียรติ ก็จะส่งผลให้ชุมชนมีเสถียรภาพและความยั่งยืนในระยะยาว ทำให้คนหนุ่มสาวไม่อยากละทิ้งบ้านไปทำงานในเมืองและใช้ชีวิตอย่างผาสุกในชุมชน”

ต้นกล้าหญิง พฤติพร จินา ต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 2 เจ้าของโครงการสืบสานพันธุกรรมท้องถิ่นเพื่อความมั่นคงทางอาหาร จ.ลำพูน กล่าวถึงความประทับใจในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพต้นกล้าครั้งนี้ว่า “ในส่วนตัวในของหญิงเอง หญิงได้พลังเป็นอย่างมากจากคำแนะนำทั้งจากคุณอูชิดะ และพี่เลี้ยงฯ การที่มีคนข้างนอกเข้ามาในพื้นที่ ทุกคำติชม กับสิ่งที่บอกพวกเราว่า ทำดีแล้ว ทำถูกต้องแล้ว ปรับปรุงบ้างในบางประเด็นอีกนิดหน่อย มันเป็นการช่วยยืนยันและยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับเราทุกคน หญิงคิดว่าความทรงจำแบบนี้ มันให้แรงบันดาลใจ มากกว่าการดูจากภาพ หรือเล่าให้ฟัง แต่การพาไปเจอและได้สัมผัส ทำให้เราได้คิดทบทวนแล้วนำกลับไปปรับใช้ ถือเป็นโอกาสอันดี ต้องขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีมาก หญิงมองว่ามันเป็นบันไดขั้นแรกในการต่อยอดสู่ความสำเร็จสำหรับการเริ่มต้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พัฒนาชุมชนต่อไป”

ด้านบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย นักพัฒนารุ่นพี่กล่าวเสริมว่า “สำหรับการมาศึกษาดูงานในครั้งนี้ พี่ว่ามันมีความสมบูรณ์ คือเราได้ดูงานในพื้นที่จริง ทั้งร้านอาหาร กิ๊ฟท์ช้อป ร้านผักอินทรีย์ ทำให้น้องๆ ต้นกล้าที่ยังไม่เห็นภาพการทำงาน ยังมีความลังเล ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เธอสามารถทำได้ ฉันก็ต้องทำได้ การดูงานในพื้นที่จริง ทำให้เห็น ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ส่วนวิทยากรที่เดินทางมาจากญี่ปุ่นเพื่อลงพื้นที่ชุมชนในครั้งนี้ ทำให้พวกเราได้รับคำแนะนำดีๆ จากเขาหลายๆ เรื่อง อย่างเรื่องสินค้าที่ดีและมีคุณภาพต้องมีอะไรบ้าง เช่น การอธิบายเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบที่ตลาดต้องการ หลักการตลาด ฟังเขาพูดในหลายมิติ สิ่งที่พี่ชอบมากครั้งนี้คือที่เขาบอกว่าการตลาดที่ดีที่สุด คือ ปากต่อปาก บางทีเราก็ละเลยอะไรตรงนี้ไป ทำอย่างไรให้คนมาเห็นแล้วพูดถึง คิดถึง พี่ว่ากิจกรรมครั้งนี้สมบูรณ์และมีประโยชน์ ถือเป็นคุณูปการแก่นักพัฒนารุ่นใหม่อย่างแท้จริง”

มูลนิธิเอสซีจีภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ เพราะไม่ใช่เพียงต้นกล้า เหล่านี้จะมีอาชีพเป็นของตัวเอง แต่ยังสามารถสร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้คนในชุมชน ได้ทำงานใน บ้านเกิด ส่งผลให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่ทิ้งรากเหง้าและวิถีชีวิตอันงดงามของตัวเองไป เราหวังว่าโครงการต้นกล้าชุมชนจะจุดประกายให้เมล็ดพันธุ์นักพัฒนารุ่นใหม่ได้เติบโต หยั่งราก และตั้งมั่น ในการรับใช้บ้านเกิดของตนเองต่อไป

มูลนิธิเอสซีจี “เชื่อมั่นในคุณค่าของคน”

ข่าวสารอื่น ๆ