เยาวชนปล่อยพลังสร้างสรรค์ผ่านงานศิลปะ ในโครงการ Young Thai Artist Award 2022 โดย มูลนิธิเอสซีจี รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

21/11/2022
share link

ศิลปะ เป็นผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์ความงาม เพื่อฟื้นฟูจิตใจและจรรโลงสังคมให้ดำรงอยู่อย่างมีความสุข เวทีประกวดศิลปะจึงถือเป็นพื้นที่ที่สำคัญเพื่อเปิดโอกาสและสนับสนุนส่งเสริมให้เยาวชนมีพื้นที่แห่งการพัฒนาความคิด เทคนิค ทักษะฝีมือ ตามความคิดสร้างสรรค์ของตนเองอย่างอิสระ อันนำไปสู่การเติบโตเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมระดับนานาชาติต่อไป

มูลนิธิเอสซีจีเห็นความสำคัญของการประกวดศิลปะระดับเยาวชน จึงได้ดำเนินโครงการรางวัล  ยุวศิลปินไทย หรือ Young Thai Artist Award มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้เยาวชนอายุ 18 – 25 ปีจากทั่วประเทศ ที่มีความสามารถด้านศิลปะจำนวน 6 สาขาได้แก่ สาขาศิลปะ 2 มิติ  ศิลปะ 3 มิติ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วรรณกรรม และการประพันธ์ดนตรี ได้สร้างสรรค์ผลงานส่งเข้าร่วมประกวด 

โครงการนี้ฯ ได้รับความร่วมมืออันดีจากคณะผู้ร่วมจัดงานทุกฝ่าย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ตลอดจนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญแห่งการเจียระไนเพชรน้ำงาม สร้างศิลปินรุ่นเยาว์ให้เติบโตบนเส้นทางศิลปะ ซึ่งการันตีคุณภาพด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นที่ยอมรับสมกับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และถือว่าเป็นเวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

เชาวลิต เอกบุตร กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “มูลนิธิฯ ขอแสดงความยินดีกับน้องๆ ยุวศิลปินทุกคนที่ได้รับรางวัลในปีนี้ สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจะได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเพื่อรับพระราชทานถ้วยรางวัล พร้อมรับเงินรางวัลจากมูลนิธิฯ ส่วนน้องๆ ยุวศิลปินที่ได้รับรางวัล Jury’s Mention Prize และรางวัลดีเด่นทุกสาขาจะได้รับเงินรางวัลและถ้วยรางวัลจากมูลนิธิฯ และขอขอบคุณคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่มาร่วมกันทำให้เวทีแห่งนี้เป็นเวทีการประกวดศิลปะระดับสากลสำหรับเยาวชน มูลนิธิฯ ยังคงมุ่งสร้างพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงผลงานอันสะท้อนถึงพลังของศิลปินรุ่นใหม่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าน้อง ๆ ยุวศิลปินจะหมั่นฝึกฝนพัฒนาฝีมือเพื่อให้ก้าวสู่ศิลปินไทยที่สามารถยืนอยู่บนเวทีระดับโลกได้อย่างองอาจและภาคภูมิ”

ณัฐธิดา ไพโรจน์ ผู้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขา วรรณกรรม ประจำปี 2565 เจ้าของผลงานกวีนิพนธ์ “ปรากฏกาล” กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้รางวัลว่า “รู้สึกตื่นเต้นมากและภูมิใจในผลงานของตัวเอง  ตอนแรกที่จะส่งผลงานนี้คิดเพียงแค่ว่า เราสร้างสรรค์ผลงานออกมาด้วยความสามารถของเราอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว หากผลงานไม่เข้ารอบก็ไม่เป็นไร  แต่ผลงานนี้ก็ทำให้เราได้ฝึกฝนตัวเอง ได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างได้พัฒนาตังเองไปอีกก้าว ถึงแม้จะเป็นการเดินทางด้วยก้าวเล็กๆ แต่ก็เป็นก้าวจากความพยายามและเป็นประสบการณ์ที่มอบให้กับตัวเอง ที่ตัดสินใจประกวดเวทีนี้เพราะมองว่าเป็นเวทีในระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดที่เปิดโอกาสให้สร้างสรรรค์ผลงานได้อย่างอิสระ ไม่จำกัดผลงานในมุมมองใดมุมมองหนึ่ง ทำให้คิดว่าสามารถสร้างสรรค์ผลงานในฉบับของตัวเองได้อย่างเต็มที่  ในอนาคตก็ยังอยากสร้างสรรค์งานเขียนพร้อมๆกับการเรียนรู้งานเขียนในประเภทต่างๆที่ตัวเอง เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น ต่อไปเพื่อเป็นนักเขียนที่มีคุณภาพในวงการวรรณกรรม”

ต่วนยัชตาน แซแร ผู้ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ ประจำปี 2565 เจ้าของผลงาน “โอรังอีซัง” กล่าวเสริมว่า “ที่สนใจส่งผลงานเข้าประกวดเพราะเวทีนี้เป็นเวทีที่ใหญ่ที่สุดในระดับประเทศ ถ้ามีชื่อในการเข้ารอบการประกวด เป็นการสร้างชื่อให้กับตัวเอง ยิ่งถ้าได้รับรางวัลจากเวทีนี้ ถือเป็นใบเบิกทางในการเข้าสู่วงการภาพยนตร์ และถือเป็นใบรับรองในการประกอบอาชีพนี้ในอนาคตได้ สำหรับผลงานเรื่องนี้ ผมตั้งใจที่ต้องการสร้างภาพยนตร์ที่มีความซื่อสัตย์ต่อพื้นที่ สร้างความเข้าใจต่อคนนอกกับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ แสดงถึงวัฒนธรรมที่ไหลผ่าน แลกเปลี่ยนกันไปมาและอยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูล .หลังจากนี้ผมคงผลิตผลงานต่อ ทำมันต่อไปเรื่อยๆ ทั้งงานที่เลี้ยงชีพและงานที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณตามแพชชั่นในชีวิตต่อไป

ด้านศาสตราจารย์อริยะ กิตติเจริญวิวัฒน์ ประธานหลักสูตรทัศนศิลป์ ภาควิชาศิลปกรรม มีเดียอาร์ตและอิลลัสเตชั่นอาร์ต คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  กรรมการตัดสินสาขา ศิลปะ 3 มิติ ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพรวมผลงานที่ส่งเข้าประกวดปีนี้ว่า “ผลงานสาขาศิลปะ 3 มิติ ที่ส่งเข้ามาในปีนี้ ผลงานมีรูปแบบในการสร้างสรรค์ที่หลากหลายทั้งด้านเทคนิค วิธีการ และวัสดุที่นำเสนอ มีความสนุกสนาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้สี แสงไฟหรือกลไกให้ผลงานเกิดการเคลื่อนไหวได้ น่าสนใจทุกชิ้น บ่งบอกถึงยุคสมัยปัจจุบันในการดำรงอยู่ของมวลมนุษย์ได้อย่างดี สำหรับผลงานสาขาอื่นๆ ในปีนี้ ผมมองว่าทุกชิ้นล้วนเป็นงานที่สะท้อนพลังความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีความร่วมสมัยและหลากหลาย น่าจับตามองในการทำงานต่อไปในฐานะยุวศิลปิน เชื่อว่าทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จได้ในอนาคต

ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ยุวศิลปินไทยผู้ได้รับรางวัลทุกสาขา มูลนิธิเอสซีจี  จึงได้จัดแสดง 36 ผลงาน จากทั้ง 6 สาขา  ณ  ห้อง New​ Gen​ Space :​ Space ​for​ all​ Generation​  โดย มูลนิธิเอสซีจี ชั้น 3 หอศิลป​วัฒน​ธรร​มแห่ง​กรุงเทพ​มหานคร (BACC) ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 – 4 ธันวาคม 2565​ ตลอดจนจัดเสวนาเรื่อง ​“อนาคตศิลปินไทยในเวทีโลก” เพื่อให้เยาวชน ตลอดจนประชาชนผู้สนใจได้เข้าชม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ต่อยอดผลงาน และยังจัดทำนิทรรศการออนไลน์ (Virtual Exhibition) ผ่านระบบมัลติมีเดีย แบบ 360 องศา ที่คมชัดทั้งภาพ และเสียงที่ผู้ชมเสมือนได้อยู่ในสถานที่จริง โดยสามารถรับชมได้ที่ www.youngthaiartistaward.com ทำให้ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่แห่งศิลปะที่ทุกคนสามารถเสพงานศิลป์ได้จากทุกมุมโลก มูลนิธิเอสซีจีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าน้องๆ ยุวศิลปินไทยทุกคนจะเติบโตเป็นศิลปินที่มีคุณภาพ มีโอกาส เรียนรู้เพื่ออยู่รอด และพัฒนาศักยภาพจนประสบความสำเร็จเติบโตเป็นศิลปิน และก้าวสู่เวทีที่ยิ่งใหญ่ระดับสากลต่อไป เพราะ มูลนิธิเอสซีจี เชื่อมั่นในคุณค่าของคน

ข่าวสารอื่น ๆ