วันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ณ ซีดีซี บอลรูม คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ (CDC) มูลนิธิเอสซีจี หรือ SCGF สร้างแรงขับเคลื่อนสังคมแห่งการเรียนรู้เพื่ออยู่รอดอย่างต่อเนื่อง กับงานทอล์ก “Learn to Earn Talk ปลุกพลัง สร้าง Mindset เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด” ที่ปีนี้ได้เชิญพาร์ทเนอร์สำคัญไม่ว่าจะเป็นฝั่งภาครัฐอย่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และวิทยาการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และฝั่งสื่ออย่าง บริษัท เดอะ สแตนดาร์ด จำกัด ร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘Empowering Learn to Earn Mindset’
นอกจากนี้ยังเปิดเซสชั่นแลกเปลี่ยนแนวคิด ‘Never-Ending Learning’ สร้างแรงบันดาลใจเพื่อการเรียนรู้ที่ไม่หยุดยั้ง กับสองพิธีกรชื่อดังอย่าง ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน และเปอร์ สุวิกรม อัมระนันท์
ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี ได้กล่าวเปิดงานถึงความมุ่งมั่นของมูลนิธิเอสซีจีที่ดำเนินการมากว่า 60 ปี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและอาชีพ ผ่านการสนับสนุนทุนการศึกษาทั้งในและนอกระบบกว่า 100,000 ทุน หรือ 3,000 ทุนต่อปี สนับสนุนไปแล้วกว่า 1 พันล้านบาท
“ทางมูลนิธิฯ พบว่านักเรียนทุนที่จบมา ตกงาน ไม่ตรงกับที่ตลาดต้องการ เราจึงเน้นทุนระยะสั้น เรียนเร็ว จบเร็ว มีงานทำทันที ภายใต้แนวคิด LEARN to EARN เรียนรู้เพื่ออยู่รอด โดยกว่า 7,000 ทุน ได้งานทำกว่า 90% ทั้งนี้ยังมี Skill Set ที่สำคัญที่นำไปสู่การ Earn จากการ Learn คือ 3 ทักษะ คือ ทักษะการสื่อสารและภาษา ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนแนวคิดนี้ จึงได้จัด Empowering Learn to Earn Mindset ตอกย้ำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ สามารถนำไปปฏิบัติ สร้างโอกาส สร้างคุณค่าให้กับตัวเองและสังคมได้” ธรรมศักดิ์ กล่าว
ด้านเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ ‘Empowering Learn to Earn Mindset’
ปรเมศวร์ นิสากรเสน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง SCG ได้ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วมาก ทั้งสงคราม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี องค์กรอย่าง SCG จึงต้องปรับตัวองค์กรอย่างรวดเร็วโดยนำสิ่งนี้มากำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาบุคคลากรในองค์กร โดยเน้นทั้ง Hard Skill อย่าง Technology และ Marketing หรือ Soft Skill ไม่ว่าจะเป็นทีมเวิร์ก หรือทักษะการสื่อสาร และเน้นวิธีการเรียนรู้แบบ 70:20:10 Blended Learning Classroom & Workshop & Digital Learning ให้การเรียนรู้มาจากหลายมิติ
นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการ บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด ได้กล่าวในมุมมองของสื่อ จากการทำงานสื่อตลอดมา ทำให้เห็นว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้าน AI และ Biotech สังคม Learn to Earn จะเกิดในสังคมไทยได้จะต้องปรับแนวคิดว่าการศึกษาในระบบไม่ใช่ศูนย์กลางการศึกษาอีกต่อไป สื่อมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการศึกษาไม่ว่าจะเป็นผลิตสื่อที่ทั้งให้ความรู้และความบันเทิงไปพร้อมกันแบบ Edutainment ซึ่งเป็นสิ่งที่ เดอะ สแตนดาร์ด มุ่งมั่นสร้างมาตลอด รวมถึงทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการสร้างแวดล้อมการเรียนรู้ได้ รวมถึงทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนต้องจับมือร่วมกัน
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ฉายภาพว่า ประเทศไทยกำลังติดกับดักความยากจน และการศึกษาที่มีความเหลื่อมล้ำสูง และการศึกษาเป็นเพียงทางเลือกเดียว (single-track education) ซึ่งไม่ตอบโจทย์เทรนด์โลกปัจจุบัน กสศ. มีความพยายามที่จะสร้างการศึกษาที่มีหลายทางเลือก (multi-track education) ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ในระบบ จะเป็นการสร้างหลักสูตรระยะสั้น (6 เดือน – 1 ปี) กับทางมหาวิทยาลัย เช่น หลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ รวมถึงการศึกษานอกระบบที่ช่วยให้เด็กที่หลุดจากระบบได้ระบบการศึกษาผ่านการสร้างสัมมาชีพ เช่น การเข้าถึงป่าชุมชนที่สามารถสร้างงานและสินค้าพื้นที่ได้ ด้วยการฝึกฝนผู้คนในพื้นที่ให้ได้ทั้งวิชาและอาชีพ
รศ.ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการสร้างหลักสูตรระยะสั้นที่ตอบโจทย์กระแสโลกได้ทันที รวมถึงการสร้างการเรียนรู้ให้แก่ผู้สูงอายุให้สามารถสร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนตนเฉลี่ย 3,000 บาทต่อเดือน
ในส่วนสุดท้ายเป็นเซสชั่นแห่งการแลกเปลี่ยนแนวคิดการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่งของสองพิธีกรดังอย่าง ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน และเปอร์ สุวิกรม อัมระนันท์ ใจความสำคัญของการแลกเปลี่ยนความคิดกันคือ การเรียนรู้ที่เริ่มต้นจากสิ่งที่เราสนุกไปกับมันได้ในตอนเรียน และเมื่อเราเรียนรู้ไปถึงจุดหนึ่ง เราจะสามารถเข้าถึงโอกาสที่จะได้ผลลัพธ์กลับคืนมา เป็นการ Learn จน Earn กลับมา
นับเป็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของทางมูลนิธิเอสซีจี ที่มุ่งมั่นส่งเสริมการศึกษาพร้อมผลักดันการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง เพื่อสร้างโอกาสและคุณค่าให้กับผู้เรียนและสังคมได้ เพื่อให้สังคมไทยรู้จักเรียนรู้ เพื่ออยู่รอดได้ในกระแสโลกใหม่ที่เปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดนิ่ง
มูลนิธิเอสซีจี (SCG Foundation)
เลขที่ 1 อาคาร 1 ชั้น 1
ถนนปูนซิเมนต์ไทย บางซื่อ
กรุงเทพฯ 10800
Copyright © 2020 The SCG Foundation.
All Rights Reserved.