โครงการกองทุนสัมมาชีพ

25/06/2020
share link

6 กองทุน หมุนเวียน ใน 8 พื้นที่ี

มูลนิธิเอสซีจีเชื่อว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นในชุมชน ผู้ที่สามารถแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือ “คน” ในชุมชนนั่นเอง เพราะความเข้าใจและรู้ซึ้งถึงปัญหาที่แท้จริง ย่อมเป็น นิมิตหมายอันดีในการหาทางออกร่วมกัน มูลนิธิฯ จึงมุ่งเน้นไปที่การช่วย ‘คน’ มากกว่าการช่วยการบริจาคสิ่งของ เพราะไม่นานสิ่งของต่าง ๆ ก็อาจหมดไป
จากประสบการณ์ในการช่วยเหลือชุมชนจากครั้งภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 ทำให้มูลนิธิฯ ตระหนักดีว่าสิ่งที่จะต้องเร่งฟื้นฟูให้เร็วที่สุดก็คือ ‘คน’ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหา และขจัดอุปสรรคอื่น ๆ ได้ต่อไป นอกจากนี้ในแต่ละพื้นที่ต่างก็มีปัญหาและอุปสรรคที่แตกต่างกัน รวมถึงต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ก็ไม่เท่ากัน ทำให้การเข้าไปเสริมความเข้มแข็งให้แต่ละชุมชนแตกต่างกัน รูปแบบความช่วยเหลือของมูลนิธิฯ ก็คือการให้ความช่วยเหลือด้วยการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียน ให้ผู้คนที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอาชีพ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน หลายคนได้สูญเสียอาชีพไปและไม่สามารถเริ่มต้นอาชีพใหม่ได้ มูลนิธิฯ จึงหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่ชุมชนที่ประสบปัญหา โดยเน้นไปที่ความช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขให้คนในชุมชนมีอาชีพ เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ ทั้งนี้รูปแบบการนำเงินกองทุนไปใช้แก้ไขปัญหานั้น คนในชุมชนจะเป็นผู้ตัดสินใจร่วมกันในการแสวงหาทางออกที่ดีที่สุดให้แก่ชุมชนของตนเอง เพราะการให้อาชีพ คือการให้ที่ยั่งยืน
ในปัจจุบันมูลนิธิฯ มีการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนอยู่ ทั้งหมด 6 กองทุนหมุนเวียนใน 8 พื้นที่ ได้แก่
1. พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา)
2. บ้านปลาบู่ มหาสารคาม
3. เครือข่ายอินแปง สกลนคร
4. ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ น่าน
5. บ้านช่องฟืน พัทลุง (บ้านคลองขุด พัทลุง , ชุมชนตำบลโรง สงขลา )
6. บ้านคูขุด สงขลา

1. พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา)

นับแต่เดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2547 ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรงและสลับซับซ้อนนี้ ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบด้วยชาวบ้าน ผู้นำชุมชนที่มีจิตอาสาเข้ามาทำงานเพื่อสังคม และเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน พยายามทำงานหนักเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประสานความเข้าใจระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับชุมชน ซึ่งนอกจากคนเหล่านี้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงแล้ว ยังต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคืองและไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ทางสังคมได้เท่าที่ควร

ความช่วยเหลือ : กองทุนเกื้อหนุนครอบครัวที่ทำงานเพื่อสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับแต่ปี พ.ศ. 2551 มูลนิธิเอสซีจีร่วมกับคณะทำงานเครือข่าย ภาคประชาสังคม 3 จังหวัดภาคใต้ ดำเนินโครงการ “กองทุนเกื้อหนุนครอบครัวที่ทำงานเพื่อสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยแบ่งความช่วยเหลือเป็น 2 ประเภท คือ
1. การมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรของผู้บำเพ็ญประโยชน์จนจบปริญญาตรี วัตถุประสงค์ของการมอบทุนนี้คือ การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของบุตรผู้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะ เป็นรางวัลตอบแทนการทำความดีด้วยการมอบหลักประกันทางการศึกษาให้กับบุตรหลานของพวกเขา
2. การจัดตั้งกองทุนสัมมาชีพและการอบรมอาชีพให้ผู้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะ มูลนิธิเอสซีจีตระหนักดีว่าหนึ่งในการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง คือการสนับสนุนคนให้มีอาชีพ เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ เหตุนี้มูลนิธิฯ จึงสนับสนุนงบประมาณจัดตั้งเป็นกองทุนสัมมาชีพในลักษณะของกองทุนหมุนเวียนให้ผู้บำเพ็ญประโยชน์ฯ ได้มีขวัญกำลังใจในการทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคมต่อไป
กองทุนสัมมาชีพไม่เพียงเสริมสร้างขวัญกำลังใจ และสร้างหลักประกันในการดำเนินชีวิตแก่ผู้บำเพ็ญประโยชน์ฯ เท่านั้น กองทุนสัมมาชีพยังนำมาซึ่งการฝึกฝนและพัฒนาทักษะการบริหารจัดการให้แก่คนในชุมชน ในเบื้องต้นมูลนิธิฯ ได้จัดการอบรมความรู้เรื่องการจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ชุมชนเรียนรู้วิธีบริหารจัดการทุนอย่างรอบคอบได้ด้วยตนเอง ให้สอดคล้องกับฐานะทางการเงินของตนเอง

2. บ้านปลาบู่ หมู่ที่ 14 ต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

บ้านปลาบู่เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ถูกกระแสการพัฒนาอุตสาหกรรมเข้ามาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้าน ในอดีตชาวบ้านอาศัยแหล่งอาหารตามธรรมชาติ แต่เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2515 เริ่มมีการนำปุ๋ยเคมีเข้ามาใช้ในชุมชน ต่อมาปี พ.ศ. 2520 รัฐบาลนำพันธุ์ข้าวมาแจกเกษตรกรด้วยเหตุผลว่าต้องการให้เกษตรกรผลิตข้าวเพื่อขายต่างประเทศ แต่ระยะเวลาต่อมาก็เปลี่ยนจากการแจกพันธุ์ข้าวเป็นการจำหน่าย ทำให้ชาวนาต้องซื้อพันธุ์ข้าว ส่งผลให้มีหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นเพราะต้นทุนในการทำนาแพงขึ้น ประกอบกับมีการขุดลอกลำน้ำเสียวส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารตามริมน้ำในธรรมชาติ และเกิดภัยแล้งซ้ำแล้วซ้ำอีก แหล่งอาหารที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่เคยพึ่งตนเอง ย่อมส่งผลถึงความมั่นคงทางอาชีพของคนในชุมชน เกษตรกรร้อยละ 67.85 มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อปี

ความช่วยเหลือ : กองทุนหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาอาชีพ
นับแต่ปี พ.ศ. 2553 มูลนิธิเอสซีจีร่วมกับสถาบันชุมชนชาวนา จ.มหาสารคามจัดทำ ‘กองทุนหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาอาชีพ’ ซึ่งมีรูปแบบการจัดการกลุ่มกิจกรรม มีการประชุมกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนเพื่อวิเคราะห์ปัญหาของคนในชุมชนร่วมกัน โดยจัดสรรกองทุนออกเป็น 4 ส่วน คือ
1. สนับสนุนกิจกรรมกลุ่มอาชีพ ได้แก่ กลุ่มมัดย้อม กลุ่มการทำนาอินทรีย์ กลุ่มเพาะกล้าพันธุ์ไม้ และการทำเกษตรรายย่อย และโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อ การทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social enterprise) ในอนาคต
2. สนับสนุนกิจกรรมกลุ่ม ได้แก่ ถอดบทเรียนโดยเจ้าหน้าที่จากสมาคมเทคโนโลยีที่เหมาะสม (อาศรมพลังงาน)
3 สวัสดิการกลุ่ม (เกิด แก่ เจ็บ ตาย)
4. สวัสดิการคณะกรรมการ
อย่างไรก็ดีกองทุนหมุนเวียนเพื่อการผลิตแบบพึ่งตนเองนี้เน้นการผลิตเกษตรอินทรีย์คืองดการใช้สารเคมี ทุกชนิด และมีการดำเนินกิจกรรมกลุ่มอย่างต่อเนื่อง เกิดการพัฒนาทักษะการบริหารจัดการแก่กลุ่มกิจกรรมอาชีพเพื่อการพึ่งตนเอง เป็น “คำตอบ” ที่ทำให้ชาวบ้านหันมาพึ่งพาตนเองได้อีกครั้งและแหล่งอาหารในท้องถิ่นก็เริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์

3. เครือข่ายอินแปง จ.สกลนคร

ชุมชนรอบเทือกเขาภูพานที่ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร อุดรธานี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร และนครพนม เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว มีคนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเป็นเครือข่ายอินแปง ซึ่งมีความหมายว่า บ้านเมืองอันอุดมสมบูรณ์ราวกับพระอินทร์แปง (สร้าง) เมืองไว้ให้ เนื่องจากมีป่าผืนใหญ่ที่เป็นเหมือนครัวชั้นเยี่ยม และเป็นเหมือนโรงงานผลิตโอโซนชั้นยอด สมาชิกรุ่นแรกของเครือข่ายอินแปงเน้นการพึ่งพาตนเอง เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ ในชุมชนต่าง ๆ เรียกว่า
วิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญเพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้จากงานในชุมชน เกิดการลงทุนลงแรงร่วมกัน สร้างสวัสดิการให้เกิดขึ้นในชุมชน อย่างไรก็ตาม
การรักษาไว้ซึ่ง ความอุดมสมบูรณ์แห่งผืนป่าไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหมดรุ่นผู้นำเครือข่ายยุคแรก เมื่อถึงรุ่นลูกหลาน ความรู้สึกผูกพัน หวงแหนผืนป่าค่อย ๆ ลดลง มีการถางป่า เพื่อเข้าสู่การผลิตกระแสหลัก ปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ทำให้ดินเสื่อม ป่าโทรม แหล่งอาหารที่เคยปลอดภัยก็ค่อย ๆ หมดไป เกษตรกรมีหนี้สิน
ปัญหาคนจนมากขึ้น ลูกหลานละทิ้งถิ่นฐาน ภูมิปัญญาท้องถิ่นขาดการสืบทอด

ความช่วยเหลือ : กองทุนคนรุ่นใหม่ลูกหลานเกษตรกรเครือข่ายอินแปง
มูลนิธิเอสซีจีร่วมกับสำนักงานปฏิรูปที่ดิน สนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้หลักสูตรเกษตรกรทายาทของเครือข่ายอินแปง เป็นเวลา 36 วัน จำนวน 70 คน โดยมี การจัดเวทีเรียนรู้เรื่องแนวคิด และการปฏิบัติการเรียนรู้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การปลูก การขยายพันธุ์พืช สัตว์ จนไปถึงการแปรรูปและการตลาด
โดยเน้น การปฏิบัติจริงในพื้นที่ของผู้นำ หลังจากการอบรม มูลนิธิฯ ได้นำแนวคิดกองทุนหมุนเวียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างอาชีพให้คนรุ่นใหม่
โดยได้สนับสนุน ‘กองทุนคนรุ่นใหม่ลูกหลานเกษตรกรเครือข่ายอินแปง’ จำนวน 40 ราย เพื่อนำไปลงทุนทำเกษตรแบบยังชีพ เป็นเงินรวม 500,000 บาทและงบบริหารจัดการ 1 ปี เป็น เงิน 168,000 บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเอสซีจีทั้งสิ้น 668,000 บาท ทั้งนี้เครือข่ายฯ นำเงินที่ได้รับสนับสนุนมาจัดทำเป็นกองทุนให้กู้ยืมโดยมี การตอบแทนร้อยละ 3 ต่อปี กำหนดให้สมาชิกคืนทุนให้หมดภายในเวลา 3 ปี และการคืนทุนทุกครั้งจะเป็นการขยายการกู้ยืมให้กับสมาชิกรายต่อไป นอกจากการสร้างอาชีพแล้ว มูลนิธิฯ ยังสนับสนุนงบประมาณแก่เครือข่ายอินแปงในการดำเนิน ‘โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของ เครือข่ายอินแปง’ มุ่งสืบทอดแนวทางการเกษตรเพื่อการพึ่งพาตนเอง รวมทั้งชักชวนคนรุ่นใหม่เข้าร่วมบริหารจัดการผลผลิตที่มีคุณภาพของท้องถิ่น เพื่อให้สามารถต่อยอดไปในระบบการตลาดสมัยใหม่

4. ศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน

จากการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ เครือข่ายมูลนิธิฮักเมืองน่าน มูลนิธิเอสซีจีได้พบว่ามีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ฟื้นฟูวิถีชาวนา กิจกรรมเรียนรู้แปลงเกษตร การทำนาข้าวอินทรีย์ การเลี้ยงหมูตามหลักเกษตรธรรมชาติ ปัจจุบันโจ้โก้ถือเป็นสถานที่ทดลอง ฝึกปฏิบัติ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของเกษตรกรและผู้สนใจในการเกษตรธรรมชาติแบบครบวงจร อย่างไรก็ดี จ. น่าน เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ประสบปัญหาว่าด้วยเรื่องของการที่คนรุ่นใหม่อพยพเข้าสู่เมืองใหญ่ ชุมชนจึงเหลือเพียงผู้เฒ่าผู้แก่ ภูมิลำเนาขาดผู้ดูแลรักษา การเอื้ออาทรลดลง บางครอบครัวแตกแยก ซึ่งการขาดซึ่งคนรุ่นใหม่เปรียบเสมือนชุมชนขาดกำลังสำคัญในการก้าวสู่วิถียั่งยืน อาชีพเกษตรกรไม่มีผู้สานต่อ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเริ่มสูญหาย

ความช่วยเหลือ : กองทุนสัมมาชีพ
ปี พ.ศ. 2554 เป็นปีที่มูลนิธิฯ ได้เริ่มขยายโครงการกองทุนสัมมาชีพไปยังพื้นที่ภาคเหนือ โดยร่วมมือกับศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งพัฒนาศักยภาพให้กับครอบครัวผู้นำทางสังคม และคนรุ่นใหม่ที่ต้องการประกอบอาชีพในภูมิลำเนาบ้านเกิดตนเอง พร้อมไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มทางสังคม ผ่านกองทุนพัฒนาอาชีพ สร้างองค์กรทางการเงิน รวมถึงจัดสวัสดิการแก่ผู้นำและสมาชิก นอกจากนี้กองทุนนี้ยังเป็นกองทุนสะสมในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินอีกด้วย ความช่วยเหลือของมูลนิธิฯ มุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนในชุมชน และเกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ให้เหมาะกับการประกอบอาชีพได้ เช่น
• สมาชิกต่างมีจุดเรียนรู้ของอาชีพตามความถนัดของตน ไม่ว่าจะเป็น หมูหลุม ข้าวนา ไม้ผล ผัก และเลี้ยงจิ้งหรีด ซึ่งถือเป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่น
• สมาชิกกลุ่มหมูหลุมได้เริ่มทดลองทำก๊าซชีวภาพจากมูลหมู ซึ่งเป็นต้นแบบด้านการใช้พลังงานทดแทน
• สมาชิกในโครงการจะเป็นอาสาสมัครเฝ้าระวัง และให้ความช่วยเหลือระดับตำบล กรณีที่เกิดภัยพิบัติด้านต่าง ๆ ภายหลังจากการดำเนินโครงการ เกิดการพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมกับครอบครัวของแกนนำ รวมถึงกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ทั้งยังเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการกลุ่ม เกิดกองทุนสะสมช่วยเหลือกลุ่มสมาชิกที่ได้รับผลกระทบในสภาวะฉุกเฉิน นอกจากนี้สมาชิกกลุ่มยังมีโอกาสได้เจอกันทุกเดือน เป็นการสร้างเครือข่ายมากขึ้น

5. บ้านช่องฟืน อ.ปากพะยูน จ. พัทลุง

ในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2553 ได้เกิดพายุดีเปรสชั่นครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งและพัดถล่มพื้นที่ จ. สงขลา และ จ. พัทลุง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนัก โดยกระแสน้ำได้ซัดเอาบ้านเรือน เรือประมง และเครื่องมือประมงจมน้ำสูญหาย โดยเฉพาะที่บ้านช่องฟืนและบ้านคูขุด ซึ่งเป็นพื้นที่ของประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก นำมาซึ่งความเสียหายอย่างแสนสาหัส มูลนิธิเอสซีจีตระหนักถึงปัญหาและความความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้น จึงได้เข้าไปช่วยเหลือชุมชนที่ประสบปัญหาจากภัยพิบัติในครั้งนั้น

ความช่วยเหลือ: กองทุนหมุนเวียนพัฒนาอาชีพประมง
มูลนิธิเอสซีจีร่วมกับสมาคมรักษ์ทะเลไทยให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ชุมชนบ้านช่องฟืน และบ้านคูขุด ทั้งนี้จากการสำรวจความต้องการของชุมชน พบว่า การคืนอาชีพ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุด เพื่อที่จะได้กลับมาทำมาหากินเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้โดยเร็ว มูลนิธิฯ จึงให้ความช่วยเหลือโดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะเร่งด่วน : จัดตั้งอู่ซ่อมสร้างเรือประมงชั่วคราว จัดตั้งเป็น ‘กองทุนหมุนเวียนเครื่องมือประมง’ เพื่อให้ชาวประมงกลับมาประกอบอาชีพได้โดยเร็วที่สุด
เพราะหากยิ่งช้า นั่นย่อมหมายถึงปากท้องของชาวประมงและครอบครัวที่ต้องเผชิญกับความอดอยาก
ระยะยาว : จัดตั้งอู่ซ่อมสร้างเรือถาวร และสนับสนุน ‘กองทุนหมุนเวียนพัฒนาอาชีพประมงยั่งยืน’ เพื่อสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านทะเลสาบสงขลา
เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการประกอบอาชีพในยามปกติ และเงินสำรองสำหรับรับมือภัยพิบัติฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยในส่วนนี้ชาวบ้านมีพันธะสัญญาที่จะนำเงินมาคืนกองทุน
ความแตกต่างที่งดงามของกองทุนหมุนเวียนนี้ก็คือ กองทุนอื่นอาจมีกฎ ระเบียบ แบบแผนที่บังคับใช้ทั่วไป แต่กองทุนนี้หากใครส่งคืนช้ากว่ากำหนด ก็จะถูกเงื่อนไขสังคมบังคับไปในตัว เพราะมีเพื่อนที่รอกู้เงินต่อในหมู่บ้าน ทำให้ต้องนึกถึงความเดือดร้อนของผู้ที่รออยู่ ดังนั้นมาตรการทางสังคมนี้เองที่ทำให้กองทุนหมุนเวียนยังดำเนินต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง เพราะแต่ละคนรู้บทบาทหน้าที่ของตนเองและมีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนสังคมไปสู่วิถียั่งยืน

6. บ้านคูขุด อ. สทิงพระ จ.สงขลา

บ้านคูขุดเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายอย่างหนักจากพายุดีเปรสชั่น เช่นเดียวกับที่บ้านช่องฟืน เนื่องจากเป็นชุมชนประมงพื้นบ้าน ดังนั้น
เมื่อเกิดภัยพิบัติจึงนำมาซึ่งความเสียหายของเรือ เครื่องมือประมงที่จมน้ำสูญหายหรือไม่อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ ที่บ้านคูขุดแห่งนี้เป็นอีกที่ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด ๆ ในขณะนั้น และในเวลาเดียวกันกองทุนกลุ่มออมทรัพย์และกองทุนแพชุมชนที่มีอยู่ ก็ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยในชุมชนได้ เนื่องจากที่ผ่านมาก่อนเกิดพายุดีเปรสชั่น ได้นำเงินกองทุนไปจัดทำกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและให้สมาชิกกู้ยืมไปก่อนหน้านี้แล้ว

ความช่วยเหลือ: กองทุนหมุนเวียนพัฒนาอาชีพประมง
มูลนิธิเอสซีจีร่วมกับสมาคมรักษ์ทะเลไทยให้ความช่วยเหลือชุมชนบ้านคูขุด โดยแบ่งความช่วยเหลือออกเป็น 2 ระยะเช่นกัน ได้แก่
ระยะเร่งด่วน : ช่วยให้ชุมชนมีอาชีพกลับคืนมาโดยเร็ว ผ่านการจัดตั้ง ‘กองทุนหมุนเวียนเครื่องมือประมง’ เพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว จำนวน 150 คนนำร่อง ซึ่งกองทุนนี้ได้นำเงินมาจัดตั้งอู่ซ่อมสร้างเรือประมงชั่วคราว รวมถึงสนับสนุนกองทุนซ่อมสร้างเรือและกองทุนเครื่องมือประมง
ระยะยาว : ตั้งอู่ซ่อมสร้างเรือถาวร และสนับสนุน ‘กองทุนหมุนเวียนพัฒนาอาชีพประมงที่ยั่งยืน’ เพื่อรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือหากปราศจากภัยพิบัติก็สามารถนำเงินกองทุนดังกล่าวมาใช้พัฒนาให้เกิดอาชีพเพื่อความยั่งยืนในอนาคต
สืบเนื่องจากการบริหารจัดการกองทุนหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำเงินจากกองทุนฯ มาเป็นเงินตั้งต้นในการประกอบอาชีพประมง เพื่อสร้างรายได้
เลี้ยงตนเองและครอบครัว ชุมชนเองยังเกิดการเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการกองทุนอย่างเป็นระบบ มีการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
และที่สำคัญยังนำมาซึ่งการช่วยคิดช่วยทำของคนในชุมชน เกิดเป็นชุมชนเข้มแข็ง ทั้งหมดนี้ล้วนอยู่ในวงจรของกระบวนการกองทุนหมุนเวียน หนึ่งใน
ความช่วยเหลืออย่างสร้างสรรค์ของมูลนิธิเอสซีจี

ภารกิจของมูลนิธิเอสซีจีต่อสังคม

ถือเป็นภารกิจสากล อันหมายถึงการทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเรื่องสากล เพื่อให้สังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีทิศทาง การช่วยเหลือและหนุนเสริมสิ่งที่ชุมชนขาด ไม่เพียงเป็นหน้าที่เท่านั้น แต่เป็นการช่วยเหลือบนพื้นฐานของคุณธรรม เป็นความเอื้ออาทรระหว่างกันในฐานะคนไทยด้วยกัน มูลนิธิฯ ไม่ได้ยื่นมือเข้าไปในชุมชนในรูปแบบของการสงเคราะห์ หากแต่เป็นการหนุนเสริมความแข็งแกร่งของชุมชน เนื่องจากชุมชนเองมีต้นทุนทางสังคมที่ดี มีการช่วยเหลือพึ่งพาตนเอง และ
ผ่านความยากลำบากโดยใช้ความพยายามที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน เหตุนี้เอง กองทุนหมุนเวียน จึงเป็นการช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข เป็นการหมุนเวียนเพื่อก่อให้
เกิดวงจรที่ยั่งยืน ก่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นการช่วยเหลืออย่างเคารพและคารวะต่อความเด็ดเดี่ยวของชุมชนในการเลือกที่จะพึ่งพา
ตัวเองก่อน ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2520 ที่ทรงตรัสว่า “…ในการช่วยเหลือนั้น ควรจะยึดหลักสำคัญว่า เราจะช่วยเขา เพื่อให้เขาสามารถช่วยตนเองได้ต่อไป...”